ประเด็นร้อน

งบปี 62 รับแผนปฏิรูปนายกฯยันอุดช่องทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 08,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -

 

วานนี้(7 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวระหว่างชี้แจงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปี2562 ตอนหนึ่งว่า เมื่องบประมาณมีวงเงินสูง หลายคนบอกว่าอาจจะมีการทุจริตอีก  ถ้าคิดอย่างนี้ก็คงทำอะไรไม่ได้ แน่นอนว่าการทุจริตไม่ได้อยู่ที่ระบบหรือกฎหมาย แต่อยู่ที่คนทั้งสิ้น เราต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีหลักคิดที่ถูกต้อง

 

"ไม่ได้ให้ไปแบบส่งเดชไปเรื่อยที่แบบว่าใครขอมาก็ให้ วันหน้าต้องเป็นแบบนี้ นายกฯต้องเป็นแบบนี้ ต้องซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ต้องดูให้ทั่วถึง ทุกโครงการต้องทำให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ทั้งการแก้ไขปัญหาในอดีต ปัจจุบัน และ ลงทุนเพื่ออนาคต" นายกฯกล่าว

 

อย่างไรก็ดีก่อนจะไปถึงการเลือกตั้ง เรามาคุยกันเรื่องนี้ได้หรือไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเสนอแนวทางการทำงานมากกว่าที่จะบิดเบือนต่อว่ากันไปกันมา ตนอยู่มา 4 ปีแล้ว ทั้งตนเองและคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก็เห็นว่าทุกอย่างมีการพัฒนาทั้งหมด จึงขอให้ช่วยกันคิดว่าจะพัฒนาอย่างไรให้ประเทศไทยเดินหน้า

 

วันเดียวกันแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านกระบวนการรับรองและเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตอย่างสมบูรณ์

 

โดยนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบ้าง ตนขอไม่ฟันธงว่า สถานการณ์การคอร์รัปชันของไทยดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2556 ที่ภาคธุรกิจได้ร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ระดมความคิดเห็นแก้ไขปัญหาระยะยาวเป็น แผนแม่บทและยื่นข้อเสนอเหล่านั้นให้แก่รัฐบาล สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

 

สำหรับข้อเสนอ 6 ประเด็น24 มาตรการ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมา โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายต่าง ๆ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เป็นต้น

 

ด้านนายพนัส สิมะเสถียร ประธานคณะกรรมการ CAC กล่าวว่า รายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยปี 2561 อยู่อันดับ 30 ของโลก ลดลงจากเดิมอันดับ 27 ในปี 2560 แสดงให้เห็นว่า ไทยยังประสบปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในเรื่องธรรมาภิบาลหรือประสิทธิภาพในการจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นต้นทางของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นการจัดการปัญหาจะหวังพึ่งกลไกในการทำงานของภาครัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องดำเนินการควบคู่ไปในส่วนของภาคเอกชน ซึ่งเป็นอีกขาหนึ่งของสมการที่ทำให้เกิดปัญหาด้วย ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า หากบริษัทเอกชน ได้เห็นถึงความสำคัญของการวางกลไกทุจริตมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการขจัดปัญหาดังกล่าวให้หมดไปจากสังคม จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ซึ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติสำหรับพรรคการเมืองเก่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่าได้รับทราบปัญหาหลังจากนี้รัฐบาล คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะหาทางออกร่วมกัน ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปดูรายละเอียดอยู่เวลานี้ซึ่งทางออกจะมีมาก่อนที่คสช.จะปลดล็อกการเมือง

 

ขณะที่พล.อ.อ.มณฑล สัชฌุกรโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนพล.อ.อ.ประจินในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และพล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(สทป.) ต่อกรณีไปลงนามจดหมาย 3 ฉบับกับบริษัทของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตดาวเทียมไธอา (THEIA) ว่า ขณะนี้พล.อ.อ.ประจิน ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ไปตรวจสอบและแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับนายศรีสุวรรณ ในฐานให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. และเป็นการสร้างความเสียหายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรองนายกรัฐมนตรีและสร้างความสับสนต่อสังคม  อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวคือ โครงการดาวเทียม ไธอา (THEIA)  มีแค่การศึกษาด้านเทคนิคโดยอนุกรรมการนโยบายอวกาศและสทป.เท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw